การเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมในสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็ง

Feeding the Cancer Patient

การจัดการด้านโภชนาการของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งควรมีความเฉพาะเจาะจงในสัตว์ป่วยแต่ละตัวโดยพิจารณาจากการประเมินทางภาวะโภชนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดการด้านโภชนาการนี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหาย (remission time) ระยะเวลาการรอดชีวิต (survival time) และคุณภาพชีวิต(quality of life) ของสัตว์ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้สัตว์ป่วยรู้สึกดีขึ้นด้วยการให้เจ้าของเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงของตน สัตวแพทย์จำเป็นต้องทำความเข้าใจและแนะนำถึงแผนการรักษาสัตว์ป่วยโรคมะเร็งกับเจ้าของให้เข้าใจและยอมรับได้อย่างถูกต้อง

 

Take-Home Points

1. โรคมะเร็งจัดเป็นโรคทางพยาธิวิทยาที่ร้ายแรงที่สุด (most common deadly pathological process) ที่ร้อยละ 90 ในสุนัข

2. สัตวแพทย์ควรเข้าใจถึงความต้องการทางโภชนาการในสัตว์ป่วยมะเร็ง รวมทั้งสารอาหารที่จำเป็นต้องพิจารณาในการจัดการกับโรคมะเร็ง

3. เจ้าของสัตว์ป่วยควรมีส่วนร่วมในการจัดการด้านโภชนาการของสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็งของตน

4. สัตวแพทย์ควรประเมินภาวะโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทุกตัว

5. ควรมีการระบุการเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมของไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในสัตว์ป่วยมะเร็ง

6. การจัดการด้านโภชนาการอาจส่งผลต่อระยะเวลาการหาย การรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วย

7. เป้าหมายหลักของการรักษาสัตว์ป่วยโรคมะเร็งคือ การรักษาน้ำหนัก

8. ระบุคำแนะนำทางโภชนาการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสัตว์ป่วยมะเร็งแต่ละตัว โดยขึ้นอยู่กับการประเมินทางโภชนาการของสัตว์ป่วยนั้นอย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในสุนัขและแมวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนวทางการรักษาและการดูแล ประคับประคองทางสัตวแพทย์ก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การติดตามทางโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทางสัตวแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ โดยคำแนะนำส่วนใหญ่มุ่งไปที่การจัดการกับภาวะanorexia หรือ cachexia ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองถึงผลกระทบของสารอาหารต่อสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งหรืออยู่ในช่วงระหว่างการรักษา ยกเว้นการศึกษาในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสุนัข แม้ว่าอาจจะยังไม่มีการวิจัยหรือข้อมูลทางวิชาการที่พอเพียง เจ้าของมักต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงของตน ซึ่งส่วนใหญ่มักหาคำตอบจากสื่อทางอินเตอร์เนต ดังนั้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นคำแนะนำสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจกับความต้องการทางโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งและสารอาหารที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องการจัดการกับโรคมะเร็ง ดังนี้

ความชุกของมะเร็ง (Prevalence of Cancer)

มะเร็งถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว แต่จะพบในแมวน้อยกว่าในสุนัข มะเร็งจัดเป็นกระบวนการทางพยาธิสภาพที่ร้ายแรงที่สุดในสุนัขและมีรายงานว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 1 ปี โดยมีอุบัติการณ์มากกว่าการบาดเจ็บถึง 3 เท่า ในสหรัฐอเมริกาพบความชุกของโรคมะเร็งสูงสุดในสุนัขสายพันธุ์ Golden Retrievers การศึกษาความชุกในอเมริกาเหนือพบว่า 5 อันดับสายพันธุ์ของสุนัขที่มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุด ประกอบด้วย Bernese mountain dog, Golden Retriever, Scottish Terrier, Bouvier des Flandres, และ Boxer และจากการศึกษาแบบ retrospective study ในประเทศสวีเดนพบว่า สุนัขสายพันธุ์ Boxers และ Bernese mountain dogs มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญ

การจัดการทางโภชนาการของสุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการรักษาที่ทีมสัตวแพทย์ควรพิจารณาเมื่อเริ่มทำการรักษา การให้สารอาหารที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิต รวมทั้งยังทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้านโภชนาการด้วย

 

การประเมินภาวะโภชนาการ (Nutritional Assessment)

ประเมินภาวะโภชนาการของสัตว์ป่วยในแต่ละตัว ดังนี้

1. ประเภทของอาหาร

2. ปริมาณอาหารที่ให้

3. วิธีการให้อาหาร

4. ความอยากอาหารของสัตว์ป่วย

5. ทัศนคติของเจ้าของสัตว์ที่มีต่อการจัดการทางโภชนาการของสัตว์ป่วยในปัจจุบัน

สัตวแพทย์ควรใช้คำถามปลายเปิดในระหว่างการประเมิน เพื่อเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากกว่าคำตอบ ว่าใช่หรือไม่ สิ่งสำคัญในการจัดการสัตว์ป่วยโรคมะเร็งคือ การประเมินน้ำหนักร่างกายปัจจุบันและอดีต (body weights) คะแนนสภาพร่างกาย (body condition score) และคะแนนสภาพกล้ามเนื้อ (muscle condition score) โดยตัวชี้วัดเหล่านี้จะช่วยระบุถึงการได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ จากการประเมินภาวะโภชนาการในมนุษย์พบว่า ร้อยละ 40-80 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งประสบกับภาวะทุพโภชนาการในระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ตำแหน่ง ระยะ และแผนการรักษา เช่นเดียวกับสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทางสัตวแพทย์ ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินภาวะทางโภชนาการ

 

การเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมในสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็ง (Metabolic Alterations in Patients with Cancer)

สัตวแพทย์ต้องเฝ้าระวังภาวะ cancer cachexia ซึ่งภาวะ cancer cachexia เป็น paraneoplastic syndrome ที่พบว่า มีน้ำหนักและคะแนนสภาพร่างกายลดลงแม้ว่าจะได้รับสารอาหารเพียงพอ ซึ่งอัตราของสุนัขและแมวที่เป็น cancer cachexia ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สัตวแพทย์จำเป็นต้องเฝ้าระวังภาวะcachexia และติดตามคะแนนสภาพร่างกายในสัตว์ป่วยที่มีประวัติเป็นมะเร็ง

การเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิซึมควรระบุในสัตว์ป่วยที่เป็นมะเร็ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะ cachexia การตอบสนองต่อการรักษาที่ลดลง อัตราการหายโรคที่ลดลง และอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น

 

การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Metabolism)

จากการศึกษาพบว่าสุนัขที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและโรค malignant อื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเนื้องอกจะเผาผลาญกลูโคส (คาร์โบไฮเดรต) เพื่อเป็นพลังงานและสร้างแลคเตต (กรดแลกติก) เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย ดังนั้น ตัวโฮสต์จึงต้องใช้พลังงานเพื่อเปลี่ยนแลคเตทกลับเป็นกลูโคส ส่งผลให้เนื้องอกได้รับพลังงาน แต่ตัวโฮสต์สูญเสียพลังงาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้สุนัขที่เป็นมะเร็งสูญเสียพลังงานเท่านั้น แต่ยังทำให้มีระดับแลคเตทและอินซูลินในเลือดสูงขึ้นด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือสัตวแพทย์ควรเลี่ยงการให้กลูโคสหรือแลคเตทแก่สัตว์ป่วยที่เป็นมะเร็ง

 

การเผาผลาญโปรตีน (Protein Metabolism)

สัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็งและมีภาวะ cachexia จะมีการเปลี่ยนแปลงการสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นปัจจัยหลักของการลดน้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอก การสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อโครงร่าง การสังเคราะห์โปรตีนในตับ และการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น ฉะนั้น หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกับการใช้งาน การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน การทำงานของระบบทางเดินอาหาร และการหายของแผลก็จะได้รับผลกระทบ

 

การเผาผลาญไขมัน (Fat Metabolism)

การสลายตัวของเนื้อเยื่อไขมันถือเป็นลักษณะสำคัญอีกประการของภาวะ cachexia ในโรคเรื้อรังต่างๆรวมถึงโรคมะเร็ง การสังเคราะห์ไขมันที่ลดลงหรือการสลายไขมันเพิ่มจะเป็นการทำลายไขมันที่สะสม จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า มีการผลิต lipid-mobilizing factor ของเนื้องอก ร่วมกับการกินอาหารลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียไขมันภายในร่างกาย

เซลล์มะเร็งมักไม่ใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานเมื่อเทียบกับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ซึ่งแตกต่างจากเนื้อเยื่อของโฮสต์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อาหารที่มีไขมันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรดไขมัน omega-3 อาจเป็นประโยชน์ต่อสุนัขที่เป็นมะเร็งมากกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง

การรักษาด้วยโภชนาการสามารถส่งผลต่อระยะเวลาการหาย ระยะเวลารอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยมะเร็ง สัตวแพทย์ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของต้องยอมรับในคำแนะนำและแผนการรักษา การจัดการทางโภชนาการ จัดเป็นการรักษาอย่างหนึ่งที่สามารถเสนอให้กับเจ้าของสัตว์ป่วยเพื่อให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการรักษาและช่วยให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และสุขภาพโดยรวมดีขึ้น

ที่มา
https://todaysveterinarynurse.com/nutrition/feeding-the-cancer-patient 

วันที่โพส : 14 กันยายน 2566