​​Things you need to know about diarrhea in dogs and cats

​​อ.น.สพ.ดร.เสลภูมิ ไพเราะ

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

อาการท้องเสีย หรือ diarrhea เป็นคำที่ใช้อธิบายอาการทางคลินิกในกรณีที่พบว่าอุจจาระของสัตว์ป่วยมีลักษณะนุ่มหรือเหลวไม่เป็นทรงเนื่องจากมีปริมาณของ water content ในอุจจาระเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาจมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นกว่าปกติซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกลไกทางพยาธิสรีรวิทยา (pathophysiologic mechanisms) แบบใดแบบหนึ่งต่อไปนี้ 

  1. altered intestinal absorption มักพบในสัตว์ป่วยที่มีภาวะ malassimilation ส่งผลให้มีการคงค้างของสารอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์หรือดูดซึมไม่หมดอยู่ในโพรงลำไส้เป็นจำนวนมาก โดยสารอาหารที่คงค้างอยู่เหล่านี้จะมีคุณสมบัติเป็น osmotically active solutes ที่ทำให้มีการดึงน้ำไว้ในโพรงลำไส้มากขึ้น มักเรียกอาการท้องเสียจากกลไกนี้ว่าเป็น osmotic diarrhea
  2. altered intestinal secretion เป็นผลสืบเนื่องจากการที่เยื่อบุลำไส้ถูกกระตุ้นด้วยสาร mediators ต่างๆ (เช่น สารในกลุ่ม enteric neuropeptides, inflammatory cell products, หรือ bacterial enterotoxins ฯลฯ) จึงทำให้มีการหลั่งของเหลวและ electrolytes จากเยื่อบุลำไส้ออกมาอยู่ในโพรงลำไส้เป็นปริมาณมาก อาจเรียกอาการท้องเสียจากกลไกนี้ว่า secretary diarrhea 
  3. increased mucosal permeability เป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดพยาธิสภาพที่ทำให้ mucosal permeability ของเยื่อบุลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในรายของสัตว์ป่วยที่มีภาวะ ulcerative enteropathies, IBD หรือ intestinal neoplasia ฯลฯ ส่งผลให้ของเหลว รวมทั้ง electrolytes, โปรตีนขนาดใหญ่ และ/หรือเม็ดเลือดแดง มีการหลุดลอดผ่านชั้น mucosa ของเยื่อบุลำไส้ออกมาสู่โพรงลำไส้มากขึ้น
  4. ultered gut motility เป็นกลไกของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากลำไส้มีการเคลื่อนตัวที่ผิดไปจากปกติ (abnormal motility patterns) เช่น มีการเคลื่อนที่แบบ giant migrating contractions (GMCs) เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนผ่านของ pancreaticobiliary secretions และ undigested content เข้าสู่ลำไส้มากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำอยู่ในโพรงลำไส้เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

อาการท้องเสียในสัตว์ป่วยแต่ละรายอาจเป็นผลจากกลไกทางพยาธิสรีรวิทยาที่กล่าวถึงไปนี้เพียงแบบใดแบบหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นจากกลไกมากกว่าหนึ่งแบบร่วมกันก็ได้ โดยกลไกทางพยาธิสรีรวิทยาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในลำไส้เล็กแล้วทำให้เกิดอาการท้องเสียแบบ small bowel diarrhea หรือเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่แล้วทำให้เกิดอาการท้องเสียแบบ large bowel diarrhea หรือในบางครั้งอาจเกิดขึ้นร่วมกันในลำไส้ทั้งสองส่วน และทำให้เกิดการท้องเสียที่มีลักษณะเป็น mixed-bowel diarrhea ก็ได้ ทั้งนี้ พบว่าสัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียเนื่องจากกลไกของ osmotic diarrhea และ secretary diarrhea มักแสดงอาการท้องเสียแบบ small bowel diarrhea ส่วนสัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียเนื่องจาก increased mucosal permeability หรือ ultered gut motility อาจพบได้ทั้ง small bowel diarrhea และ large bowel dirarhea

 

อาการท้องเสียที่เป็น small bowel diarrhea อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาที่เป็น primary GI disorders ซึ่งหมายถึงการมีรอยโรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้นที่ลำไส้เอง หรืออาจเป็น extra-GI cause of diarrhea คืออาการท้องเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีโรคหรือความผิดปกติภายนอกระบบทางเดินอาหารที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของระบบทางเดินอาหารตามมา เช่น การขาด digestive enzymes จากตับอ่อนในภาวะ exocrine pancreatic insufficiency (EPI) ส่งให้การย่อยอาหารในลำไส้มีความผิดปกติไปและทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา ฯลฯ ส่วนอาการท้องเสียที่เป็น large bowel diarrhea นั้น มักเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาที่เป็น primary GI disorders เป็นหลัก 

 

สัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียแบบ small bowel diarrhea มักมีลักษณะของอุจจาระและอาการแวดล้อมทางคลินิกที่แตกต่างกันกับสัตว์ป่วยที่มีอาการแบบ large bowel diarrhea ดังข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 1 ซึ่งการซักประวัติสัตว์ป่วยโดยละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของอุจจาระ รวมทั้งความถี่ในการถ่ายอุจจาระ และอาการทางคลินิกอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาการเบ่งถ่าย ฯลฯ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยวินิจฉัยแยกว่ากลไกซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียเกิดขึ้นภายในลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับอายุ เพศ พันธุ์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร การควบคุมปรสิตและการถ่ายพยาธิ ประวัติการป่วยหรือการมีโรคประจำตัวอื่นๆ และประวัติการได้รับยาสำหรับรักษาโรคต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาในการเกิดอาการท้องเสียและอาการทางคลินิกอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ก็เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการท้องเสียในสัตว์ป่วย

 

นอกจากการซักประวัติแล้ว ข้อมูลจากการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน เช่น การตรวจ CBC, การตรวจ serum chemistry panel, การตรวจระดับโปรตีน albumin และ globulin, การตรวจระดับ glucose และ electrolytes ในเลือด ฯลฯ ก็อาจมีส่วนช่วยในการช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่เป็น extra-GI cause of diarrhea อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการประเมินสภาวะทางสุขภาพของสัตว์ป่วยได้อีกด้วย ส่วนการตรวจตัวอย่างอุจจาระโดยการทำ fresh fecal examination หรือ fecal cytology นั้น เป็นวิธีการที่มีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) น้อย ดังนั้น หากผลตรวจไม่แน่ชัด ควรพิจารณาเลือกใช้การตรวจด้วยวิธีการอื่นที่มีความไวและความจำเพาะต่อการตรวจหา intestinal parasite และ infectious agent มากขึ้น เช่น การตรวจด้วยเทคนิค fecal floatation หรือ fecal sedimentation การตรวจด้วยชุดตรวจสำเร็จรูป หรือการตรวจด้วยวิธี PCR ฯลฯ ส่วนวิธีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอื่นๆ ที่อาจพิจารณาเลือกตรวจตามความเหมาะสมสำหรับสัตว์ป่วยที่มีภาวะท้องเสียแต่ละราย มีดังนี้ 

  1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคที่เป็น extra-GI cause of diarrhea เช่น การตรวจระดับ trypsin-like immunoreactivity (TLI) ในสัตว์ป่วยที่สงสัยภาวะ EPI หรือการทำ ACTH stimulation test ในสัตว์ป่วยที่สงสัยภาวะ hypoadrenocorticism ฯลฯ
  2. การตรวจระดับ serum cobalamin และ folate
  3. การตรวจด้วยเทคนิคภาพวินิจฉัย (diagnostic imaging) เช่น การทำ abdominal ultrasound หรือการทำ endoscopy
  4. การทำ intestinal biopsy เพื่อการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา

นอกจากนี้ การพิจารณาใช้ทดลองรักษา (treatment trial) ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารหรือการใช้ยาบางชนิด ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคสำหรับสัตว์ป่วยบางรายที่มีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการที่มีความจำเพาะ

สัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน (acute diarrhea) มักตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่จำเพาะเจาะจง (non-specific therapy) หรือบางรายอาจหายได้เอง แต่อย่างไรก็ดี อาจมีบางภาวะโรคที่ทำให้สัตว์ป่วยเกิดอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง (fulminating acute diarrhea) จนอาจเป็นเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อ parvovirus ฯลฯ ซึ่งสัตว์ป่วยในกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการอย่างเหมาะสมและมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนสัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง (chronic diarrhea) มักต้องการแผนการรักษาที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องจะช่วยให้การวางแผนการรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยบางรายอาจหายขาดจากโรคได้หลังจากได้รับการรักษา แต่ในบางรายอาจต้องได้รับการรักษาแบบจำเพาะไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี พบว่าการจัดการอาหารที่มีความเหมาะสมกับภาวะโรคของสัตว์ป่วยแต่ละราย มักเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

 

Battersby IA. Acute diarrhea. In: Hall EJ, Williams DA, Kathrani A, editors. BSAVA Manual of Canine and Feline Gastroenterology. 3rd ed. BSAVA Publications; 2020. p. 83-86. 

Luckschander-Zeller N. Chronic diarrhea. In: Hall EJ, Williams DA, Kathrani A, editors. BSAVA Manual of Canine and Feline Gastroenterology. 3rd ed. BSAVA Publications; 2020. p.87-91. 

Maddison JE and McMahon L. Diarrhoea. In: Maddison JE, Volk HA, Church DB, editors. Clinical Reasoning in Small Animal Practice. 2nd ed. John Wiley & Sons Ltd; 2022. p.55-72.  

Manchester AC. Diarrhea. In: Côté E, Ettinger SJ, Feldman EC, editors. Ettinger’s Textbook of Veterinary Internal Medicine. 9th ed. Philadelphia: Elsevier, Inc; 2024. P.865-875.

Tam TR. Gastrointestinal symptoms. In: Tam TR, editor. Handbook of Veterinary Gastroenterology. 2nd ed. Saunders; 2003. p.1-50. 

 

 

วันที่โพส : 20 กรกฎาคม 2567